ยิมนาสติก (อังกฤษGymnastics) เป็นกีฬาที่เกี่ยวกับการแสดง ความแข็งแรง ความสวยงาม ความคล่องแคล่ว และการทำงานประสานกันของร่างกาย เป็นกีฬาสากลประเภทหนึ่งที่จัดเข้าแข่งขันในกีฬาโอลิมปิก ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มมาเมื่อใด แต่มาปรากฏก่อนคริสต์ศักราช 2,600 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ชาวจีนได้มีการฝึกฝนท่ากายบริหารและคิดประดิษฐ์ท่ากายบริหารขึ้น แต่การเริ่มต้นยิมนาสติกอย่างแท้จริงน่าจะเริ่มสมัยเริ่มต้นของประวัติศาสตร์แห่งชาวกรีกและโรมัน โดยเฉพาะกรีกโบราณ คำว่ายิมนาสติก เป็นภาษากรีก มาจากคำว่า Gymnos แปลว่า Nude หรือแปลว่า Naked Art มีความหมายว่า "ศิลปะแห่งการเปลือยเปล่า"


                               การแข่งขันยิมนาสติกลีลา


               

     

เดิมใช้เป็นกิจกรรมเพื่อการฝึกบริหารร่างกาย โดยเน้นการใช้ทักษะยิมนาสติกผสมกับจังหวะของดนตรี และเพื่อให้สะท้อนลีลาที่สวยงามจึงเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ใหม่ คือ ลูกบอล ห่วง ไม้โยน ริบบิ้นยาว และเชือก เพื่อเพิ่มความตื่นเต้นผสมกับความสวยงาม และได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นกีฬาที่มีการแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 23 ณ สหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2527 จุดเด่นของยิมนาสติกลีลาใหม่ประกอบดนตรี คือ การเน้นความสัมพันธ์ในการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพพร้อมอุปกรณ์ให้สอดคล้องกับดนตรีได้อย่างงดงามและมีศิลปะอ่อนช้อย

อุปกรณ์หรือสิ่งที่ใช้ในการแข่งขัน

1.อุปกรณ์ มีทั้งหมด 5 ชิ้น ได้แก่ ลูกบอล ริบบิ้น ห่วง ไม้โยน และเชือก อุปกรณ์ทั้ง 5 ชิ้นจะใช้สีใดก็ได้ ยกเว้น สีทอง เงิน และทองแดง จะใช้สีตัดกันหรือสีผสมกลมกลืนกันก็ได้แล้วแต่พอใจ
2.ดนตรี เป็นความสำคัญสุดยอดในการพัฒนาจังหวะและการเคลื่อนไหว การแสดงออกจึงต้องผสมกลมกลืนกับการเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกับศิลปะบัลเลต เครื่องดนตรีที่ใช้ในการแข่งขันต้องเป็นเครื่องดนตรีที่บรรเลงชิ้นเดียว เช่น เปียโน ขลุ่ย และไวโอลิน
3.เครื่องแต่งกาย ต้องเป็นชุดแนบเนื้อ หากไม่มีแขน ไหล่จะต้องกว้างอย่างน้อย 5 เซนติเมตร

กติกา

    ไม่จำกัดเพศและอายุ นักกีฬาต้องแข่งขันกันตามลำดับอุปกรณ์ คือ เชือก ห่วง ลูกบอล ไม้โยน และริบบิ้น ในการแข่งขันแต่ละครั้งนักกีฬาจะแสดงเพียง 4 อุปกรณ์เท่านั้น ซึ่งฝ่ายจัดการแข่งขันจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

1. การแข่งขันประเภทบุคคล คะแนนเต็ม 10 คะแนน แบ่งคะแนนเป็น 2 ส่วน

ส่วนที่ 1 มี 7 คะแนน เป็นคะแนนการเรียงลำดับท่า ซึ่งประกอบด้วยท่าของความยาก 5 คะแนน ความสัมพันธ์ระหว่างดนตรีและท่าทาง 1 คะแนน ท่าของเทคนิคในการประกอบชุด 0.5 คะแนน และความคิดริเริ่มในการแต่งท่า 0.5 คะแนน

ส่วนที่ 2 มี 3 คะแนน เป็นคะแนนท่าจบประกอบด้วยเทคนิคการทำให้สำเร็จ 1.5 คะแนน ผลสะท้อนโดยสรุป 1.5 คะแนน

2. การแข่งขันประเภททีม คะแนนเต็ม 20 คะแนน แบ่งกรรมการออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 10 คะแนนแล้วนำคะแนนของกรรมการทั้ง 2 กลุ่มมารวมกัน กรรมการกลุ่มที่ 1 ตัดสินจากการแข่งท่า 5 คะแนนและท่าของเทคนิคการแสดง 5 คะแนน กรรมการกลุ่มที่ 2 จะตัดสินจากการผสมกลมกลืนและเทคนิคการทำท่าให้สำเร็จ 10 คะแนน

3. ท่าที่ใช้ในการแข่งขันทั้งประเภทบุคคลและทีม กำหนดให้มีท่าแข่งขันท่ายากอย่างน้อย 2 ท่า ท่าละ 1 คะแนน ท่าง่าย 6 ท่า ท่าละ 0.5 คะแนน การตัดสินความยากง่ายของท่าไม่กำหนดตายตัว เนื่องจากเทคนิคมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ก่อนการแข่งขันจึงมีการประชุมระหว่างกรรมการเพื่อตกลงกันเรื่องการให้คะแนน


       การแข่งขันยิมนาสติกสากล

         

รอบของการแข่งขัน

1.รอบที่ 1 เป็นการแข่งขันประเภททีม ทีมละ 5 - 6 คน ประเภทนี้มีการแข่งขัน 2 ครั้งคือท่าบังคับและท่าสมัคร เป็นการแข่งขันรอบคัดเลือกเพื่อเข้าแข่งขันในประเภทอื่นๆ

2.รอบที่ 2 เป็นการแข่งขันประเภทบุคคลรวม นักกีฬาที่เข้าแข่งขันจะต้องผ่านการคัดเลือกจากการแข่งขันประเภททีมมาแล้ว โดยปกติผู้ที่มีคะแนนสูง 36 คนแรก จะมีสิทธิ์เข้าแข่งขันในประเภทบุคคลรวม

3.รอบที่ 3 เป็นการแข่งขันประเภทอุปกรณ์ ผู้เข้าแข่งขันจะส่งเข้าแข่งขันได้อุปกรณ์ละไม่เกิน 2 คน โดยคัดเลือกจากประเภททีมเหมือนกัน ผู้ที่คะแนนสูงสุด 6 ถึง 8 คน ก็จะเข้ามาแข่งขันกันใหม่ในรอบนี้
การแข่งขันยิมนาสติกนี้ นักยิมนาสติกทุกคนจะต้องเล่นทุกอุปกรณ์ที่มีอยู่ โดยผู้ชายใช้อุปกรณ์ 6 อย่าง และผู้หญิงใช้อุปกรณ์ 4 อย่าง

     ในรอบทีมและรอบบุคคลรวม ผู้เล่นจะต้องแสดงท่าต่างๆ ที่มีความยากง่ายแตกต่างกันเข้าเป็นชุด ชุดละไม่น้อยกว่า 10 ท่า และจะต้องแสดงท่าในชุดนั้นๆ ติดต่อกันโดยไม่หยุดพัก (ยกเว้นม้ากระโดดทั้งชายและหญิง จะแสดง 1 หรือ 2 ท่าเท่านั้น) คะแนนของการเล่นบนอุปกรณ์แต่ละอย่างเป็น 10 คะแนน (ยกเว้นม้ากระโดด คะแนนจะอยู่ที่ความยากง่ายของท่าที่เลือกแสดง)

อุปกรณ์หรือสถานที่ที่ใช้ในการแข่งขัน

1.  Floor Exercise เป็นสนามเรียบปูด้วยวัสดุที่ยืดหยุ่น ขนาดกว้างยาว 12 x 12 ม. ทั้งชายและหญิง
2. ม้ากระโดด เป็นตัวม้า หลังบนกว้าง 30 ซม. ยาว 160 ซม.
    a. ชายใช้วางตามยาว สูง 135 ซม.
    b. หญิงวางตามขวาง สูง 120 ซม.
3. ม้าหู คล้ายม้ากระโดดแต่มีหูสำหรับจับ 2 หู หูสูง 12 ซม. อยู่ห่างกัน 40 – 45 ซม. ม้าสูง 110 ซม.
4. ห่วง เป็นลักษณะห่วงคู่ แขวนขนานโดยห่วงทั้งคู่ห่างกัน 50 ซม. สูงจากพื้น 2.75 ม.
5. ราวคู่ เป็นราวไม้ขนานกันยืดหยุ่นตัวได้ ยาว 3.5 ม. สูง 1.70 - 1.75 ม. ตัวราวทั้งคู่ห่างกัน 42 - 52 ซม.
6. ราวเดี่ยว เป็นราวเหล็กตันยืดหยุ่นตัวได้ ยาว 2.40 ม. สูง 2.55 - 2.60 ม.
7. ราวต่างระดับ คล้ายราวคู่ แต่ราวทั้งสองสูงไม่เท่ากัน ราวบนสูง 2.30 ม. ราวล่างสูง 1.50 ม.
8. คานทรงตัว เป็นคานไม้กว้าง 10 ซม. ยาว 5 ม. สูงจากพื้น 1.20 ม.

การประกอบที่ชุดใน Floor Exercise (หญิง)

ชุดการแสดงต้องมีท่ายากระดับ B และท่ายากระดับ C โดยต้องมาจากกลุ่มท่าต่อไปนี้
    1. ท่าผาดโผนลอยตัวและไม่ลอยตัว ทั้งด้านหน้า ด้านหลัง และด้านข้าง
    2. ท่าผาดโผนแข็งแรง
    3. ท่ายิมนาสติกต่างๆ เช่น เดิน วิ่ง กระโดด หมุนตัว กระโดดเขย่ง กระโจน
    4. ท่าทรงตัวในการยืน นั่ง นอน การเหวี่ยงแขนและทำตัวเป็นคลื่น นำมาประกอบต่อเชื่อมกัน
การแสดงจะต้องมีดนตรีประกอบโดยไม่มีเนื้อร้อง ผู้แสดงจะต้องเคลื่อนไหวให้เข้ากับจังหวะไปตามส่วนต่างๆ ของพื้นที่ ตลอดจนการเปลี่ยนทิศทางหรือเปลี่ยนระดับจากต่ำไปหาสูง ชุดที่ใส่แข่งขันต้องเป็นชุดแนบเนื้อ แขนยาวปิดศอก ถ้าเป็นประเภททีมต้องแต่งให้เหมือนกันหมด ส่วนประเภทบุคคลจะแต่งชุดหรือสีอะไรก็ได้ ระยะเวลาในการแข่งขัน 1.10 – 1.30 นาที

การประกอบที่ชุดใน Floor Exercise (ชาย)

     ชุดท่าการแสดงจะประกอบด้วย ท่าทรงตัว ท่าหยุดนิ่ง ท่าความแข็งแรง ท่ากระโดด ท่าดีด ท่าสปริงมือ ท่าตีลังกาผาดโผน โดยผู้แสดงจะต้องแสดงไปยังทุกส่วนของพื้นที่ ท่าที่แสดงต้องมีความสมบูรณ์สวยงาม การเคลื่อนไหวแขน ขา ลำตัว มือ เท้า ศีรษะ จะต้องเป็นไปตามรูปแบบของกีฬายิมนาสติก ชุดที่ใส่แข่งขันต้องเป็นเสื้อกล้าม กางเกงขายาวรัดฝ่าเท้า หรือกางเกงขาสั้นก็ได้ ระยะเวลาในการแข่งขัน 50 – 70 วินาที

                 การแข่งขันแบบยืดหยุ่น

ประเภทการแข่งขัน ได้แก่

1. ประเภทเดี่ยว มีทั้งชายเดี่ยวและหญิงเดี่ยว
2. ประเภทคู่ มีทั้งชายคู่ หญิงคู่ และคู่ผสม
3. ประเภททีม มีทีมชาย 4 คน และทีมหญิง 3 คน

สนามที่ใช้แข่งขัน

1. สนามการแข่งขันประเภทเดี่ยว กว้าง 1.5 เมตร ยาว 20 เมตร มีทางวิ่งยาว 10 เมตร
2. สนามการแข่งขันประเภทคู่และประเภทหมู่ ใช้สนาม Floor Exercise ขนาด 12 × 12 เมตร

การแข่งขัน

1.ประเภทเดี่ยว ผู้แสดงจะต้องแสดงท่ายืดหยุ่นติดต่อกันเป็นชุด ชุดละ 4 - 5 ท่า เป็นจำนวน 3 - 6 ชุด (ท่าสมัคร 3 ชุด และท่าบังคับ 3 ชุด) โดยจะต้องแสดงให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาที่กำหนดให้

2.ประเภทคู่และหมู่ จะเป็นการต่อตัวผสมกับการเล่นยืดหยุ่นทั้งบนฟลอร์และท่ากลางอากาศขณะต่อตัว ความสวยงามและการให้คะแนนจะดูจากความยากของการต่อตัว ความมั่นคงและการทรงตัวและความพร้อมเพรียงกันของนักกีฬา การแข่งขันการต่อตัวนี้มักใช้ชื่อว่า “ศิลปกายกรรมต่อตัว” หรือ “กายศิลป์” การแสดงประเภทคู่และหมู่นี้ จะต้องมีเสียงดนตรีประกอบ ผู้แสดงจะต้องแสดงให้เข้ากับจังหวะดนตรีด้วย ระยะเวลาของการแสดงจะใช้เวลาตั้งแต่ 2 นาที ถึง 3 นาที


        กติกาและเกณฑ์การตัดสินกีฬายิมนาสติก

การให้คะแนนในการแข่งขัน 
คณะกรรมการผู้ตัดสิน ประกอบด้วยคณะลูกขุน (ประเภทบุคคลและกลุ่ม แบ่งผู้ตัดสินออกเป็น 2 ฝ่าย)
- กลุ่ม A คณะลูกขุนการประกอบท่าชุด (Composition) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
- กลุ่ม A1 ผู้ตัดสินฝ่ายเทคนิค (technical Value) ทำหน้าที่ในการ ประเมินค่าทางเทคนิคที่เกี่ยวกับการ       ประกอบท่าชุด (จำนวนและระดับของท่าความยาก) มีคะแนนสูงสุด 10 คะแนน
- กลุ่ม A2 ผู้ตัดสินฝ่ายศิลปะ (Artistic Value) ทำหน้าที่ในการ ประเมินองค์ประกอบทางศิลปะ องค์           ประกอบทางเสียงดนตรี และการออกแบบท่าชุด (เลือกท่าสำหรับอุปกรณ์ เลือกท่าทางการเคลื่อนไหว   ร่างกาย การใช้อุปกรณ์ การใช้การเคลื่อนไหวร่างกาย ความชำนาญและความเป็นต้นแบบ) มีคะแนน       สูงสุด 10 คะแนน (ดนตรี = 2.0 คะแนน, การออกแบบท่าชุด = 8.0 คะแนน)
- กลุ่ม B คณะลูกขุนความสมบูรณ์ของท่า (Execution) ทำหน้าที่ในการ ประเมินความสมบูรณ์ (ความผิด     พลาดทางเทคนิค) มีคะแนนสูงสุด 10 คะแนน

แนวทางในการตัดสิน
1. ระดับของความผิดพลาด
    1.1 ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจะถูกตัดคะแนนตามระดับ ดังต่อไปนี้
          0.05 หรือ 0.10 คะแนน สำหรับความผิดเล็กน้อย
          0.20 คะแนน สำหรับความผิดปานกลาง
          0.30 คะแนน สำหรับความผิดพลาดที่มาก
2. การให้คะแนนและการคำนวณคะแนน
    2.1 ผู้ตัดสินแต่ละคนจะให้คะแนนดังต่อไปนี้
          การแข่งขันประเภทบุคคลและกลุ่ม
          ผู้ตัดสินฝ่าย Composition, Score A1: Technical Value (T.V.) o: ถึงสูงสุด 10 คะแนน (โดยรวม                 ทั้งหมด)
          ผู้ตัดสินฝ่าย Composition, Score A2:Artistic Value (A.V.) :0 ถึงสูงสุด 10 คะแนน (ในแต่ละส่วน             แล้วนำมารวมกัน)
          ผู้ตัดสินฝ่าย Execution, Score B 0 ถึงสูงสุด 10 คะแนน (ผู้ตัดสินจะให้เฉพาะคะแนนที่ถูกตัดออก)
          คะแนนรวมประกอบด้วย 3 ส่วน =T.V + A.V. + Execution

การคิดคะแนนฝ่ายเทคนิค (Technical Value)

ผู้ตัดสินฝ่าย Technical Value จะให้คะแนนดังนี้
- ตรวจสอบความถูกต้องของการทำท่าความยาก ขีดฆ่าสำหรับความยากที่ไม่ให้ค่าเท่าและเพิ่มความ       ยากที่นักกีฬาอาจแสดงได้
- เลือกท่าความยากที่มีคะแนนสูงที่สุด 10 เท่า
- ปรับคะแนนให้ตรงกัน
- ตัดคะแนนสำหรับท่าความยากที่ขาดไปในกลุ่มความต้องการเฉพาะอุปกรณ์

การประเมินท่าความยากที่นักกีฬาแสดง
ท่า A มีคะแนน = 0.10 คะแนน
ท่า B มีคะแนน = 0.20 คะแนน
ท่า C มีคะแนน = 0.30 คะแนน
ท่า D มีคะแนน = 0.40 คะแนน
ท่า E มีคะแนน = 0.50 คะแนน

กลุ่มท่าการเคลื่อนไหวของนักกีฬา ประกอบด้วย

1. กลุ่มท่าพื้นฐาน (ความถูกต้องของท่าความยาก)
- การก้าว และกระโดด (Jump and Leaps)
- การทรงตัว (Balance)
- การหมุนตัว (Pivots)
- ความอ่อนตัว / การทำตัวเป็นคลื่น(Flexibility / Waves)
2. กลุ่มท่าอื่นๆ (ให้เฉพาะการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่อง)
- การเคลื่อนที่ (Traveling)
- Skips and Hops
- การเหวี่ยง / การทำวงกลม (Swing and Circle)
- การเปลี่ยนทิศทาง (Tums)

การประเมินค่าทางศิลปะ (Artistic Value)

มีคะแนนสูงสุด 10 คะแนน โดยให้คะแนนดังต่อไปนี้ 2.00 คะแนนสำหรับดนตรี และ 8.00 คะแนน สำหรับการออกแบบท่าชุด

ผู้ตัดสินฝ่ายศิลปะ (Artistic Value) ดำเนินการตามรูปแบบดังต่อไปนี้
-ปรับฐานคะแนนของดนตรี หลังจากตัดคะแนนที่เกิดจากการทำผิดพลาด
-ปรับฐานคะแนนสำหรับการออกแบบท่าชุดหลังจากที่มีการตัดคะแนนแล้ว
-ตรวจสอบความถูกต้องการแสดงของนักกีฬา พิจารณาคุณลักษณะพิเศษของการออกแบบท่าชุดที่แสดงไว้ในรายการ ขีดฆ่าท่า ที่ไม่ถูกต้องออก เพิ่มคะแนนสำหรับค่าท่าที่เพิ่มขึ้นจากการแสดงของนักกีฬาที่เป็นไปตามรูปแบบ และคำนวณระดับของท่า
-เพิ่มระดับคุณลักษณะพิเศษของการออกแบบท่าชุด คำนวณการแสดงถึงฐานคะแนนของการออกแบบท่าชุด
-เพิ่มคะแนนของดนตรี ที่ส่วนของการออกแบบท่าชุด

ความสมบูรณ์ของการแสดง (Execution)

สามารถตัดคะแนนได้ตลอดเวลา และทุกท่าที่ผิดพลาด ยกเว้น ในกรณีที่มีการลงโทษโดยรวม

ระดับความผิดพลาด ผู้ตัดสินจะตัดคะแนน
0.5 หรือ 0.10 คะแนน ถือเป็นความผิดเล็กน้อย
0.20 คะแนน ถือเป็นควาผิดปานกลาง
0.30 คะแนน ถือเป็นความผิดมาก
เวลาและการสัมผัสอุปกรณ์

- การแข่งขันยิมนาสติก กำหนดให้แสดงท่าชุดทั้งหมดภายในเวลาไม่ต่ำกว่า 1.15 นาทีและไม่เกิน 1.30 นาที ในทุกๆอุปกรณ์ กรรมการจะทำการตัดคะแนนในทุกๆ วินาที ที่ขาดหรือเกิน จากเวลาที่กำหนดไว้

- การจับเวลา กรรมการจะเริ่มจับเวลาทันทีที่นักกีฬาเริ่มเคลื่อนไหว และหยุดการจับเวลาทันที ที่นักกีฬาหยุดการเคลื่อนไหวอย่างชัดเจน นักกีฬาสามารถจัดท่าทางเริ่มต้นได้เพียงอย่างเดียว
การสัมผัสอุปกรณ์ ท่าเริ่มต้น นักกีฬาต้องสัมผัสอุปกรณ์ด้วยส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ในท่าเริ่มต้นของการแข่งขัน กรรมการจะตัดคะแนน หากร่างกายไม่สัมผัสอุปกรณ์ตามกำหนด

- การสัมผัสอุปกรณ์ขณะแข่งขัน หากเกิดความผิดพลาดในการรับหรือส่งหรือปะทะอันเป็นอุปกรณ์ หากไม่เป็นไปตามกำหนดจะถูกกรรมการตัดคะแนน


         มารยาทในการเล่นและชมกีฬายิมนาสติก

มารยาทการเป็นนักกีฬา

- แต่งกายในชุดที่เหมาะสมและรัดกุม คือ ต้องเป็นชุดแนบเนื้อ หากไม่มีแขน ไหล่จะต้องกว้างอย่างน้อย   5 เซนติเมตร
- ไม่แสดงกิริยาหรือกล่าวถ้อยคำอันไม่สุภาพต่อผู้เล่นอื่นๆ หรือผู้ดู
- ปฏิบัติตามระเบียบ กฎ กติกาอย่างเคร่งครัด
- ไม่โต้เถียง หรือแสดงกิริยาอาการที่ไม่เหมาะสมแก่ผู้ตัดสินในการตัดสิน
- ก่อนและหลังการเล่นทุกครั้งควรทำความเคารพผู้ตัดสิน

มารยาทการเป็นผู้ชม

- ให้เกียรตินักกีฬาและกรรมการผู้ตัดสิน
- ไม่แสดงอาการอันแสดงถึงการเยาะเย้ยกับผู้เล่นเมื่อมีการกระทำผิดพลาด
- แสดงความชื่นชมยินดี โดยการปรบมือให้กับผู้เล่นที่ทำได้ดี
- ไม่ทำการรบกวนสมาธิของผู้เล่น
- ไม่เชียร์ในสิ่งที่เป็นการส่อเสียดในทางไม่ดีต่อทีมใดทีมหนึ่ง
- ไม่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันที่จะทะให้ผู้ตัดสินหรือเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้ไม่สะดวก
- แสดงความยินดีแก่ผู้ชนะ เป็นกำลังใจให้กับผู้แพ้
- ไม่ขว้างปาสิ่งของลงใยสนาม เพราะอาจเกิดอันตรายต่อนักกีฬา

ความคิดเห็น